วันพุธที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2556

เทคนิคการสอนเด็กพิเศษ (การวิเคราะห์งาน)

การศึกษาแบบเรียนรวม


ความหมายของการศึกษาแบบเรียนรวม

                การเรียนรวม  หมายถึง การจัดการบริหาร  สนับสนุน  ส่งเสริมครูและผู้บริหารในโรงเรียนปกติให้การจัดการศึกษาสำหรับเด็กพิเศษในโรงเรียนปกติโดยไม่มีการแบ่งแยกว่าเด็กคนใดเป็นปกติหรือเด็กคนใดเป็นเด็กพิเศษ  ไม่คำนึงถึงความรุนแรงในสภาพความพิการ  มีการจัดเตรียมโปรแกรมการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคลสำหรับเด็กพิเศษอย่างเหมาะสม  ให้เด็กพิเศษได้เข้าเรียนรวมในชั้นเรียนวิชาการและกิจกรรมพิเศษเท่าที่จะเป็นไปได้  รวมถึงการทำกิจกรรมต่างๆ เช่นเดียวกับนักเรียนปกติ  สนับสนุนให้นักเรียนพิการ ได้มีเพื่อนผู้ช่วยหรือเพื่อนคู่หูเช่นเดียวกับเด็กปกติ  จัดให้นักเรียนพิการได้รับการศึกษาในชุมชนและสิ่งแวดล้อมต่อไป  สอนและแนะนำให้นักเรียนเข้าใจและยอมรับในความแตกต่าง  และให้พ่อแม่ผู้ปกครองมีส่วนร่วมอย่างจริงจัง

เทคนิคการสอนเด็กพิเศษ

เนื้อหา ความจำเป็นในการเลือกใช้เทคนิคการสอน
                การเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพ คือ การสอนที่พบว่าหลังจากเด็กได้รับความรู้ หรือมีการพัฒนาในด้านต่างๆ เพิ่มขึ้นตามวัตถุประสงค์ที่ครูตั้งไว้ ซึ่งครูอาจมีวิธีการมากมายที่จะทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้ แต่ไม่ได้หมายความว่า ครูเลือกใช้วิธีใดวิธีหนึ่งแล้วประสบความสำเร็จ จึงใช้วิธีเดียวกันนี้สำหรับสอนเด็กทุกน เพื่อให้เด็กเหล่านั้นพัฒนาขึ้นเท่าเทียมกัน ทั้งนี้เพราะเด็กมีพื้นฐานต่างกัน ความรู้ความสามารถของเด็กแต่ละคนก็ไม่เท่ากัน เด็กอาจได้รับประโยชน์จากการเรียนการสอนไม่เต็มที่ ถ้าหากครูใช้วิธีการสอนเช่นนี้ ดังนั้นครูจึงต้องปรับเปลี่ยนเทคนิคการสอน เลือกใช้เทคนิคการสอนที่เหมาะสม เพื่อตอบสนองต่อเด็กกลุ่มที่มีความหลากหลายในห้องเรียนรวม

                แนวคิดในการปรับเปลี่ยนเทคนิคการสอน ได้แก่
                1. การเรียนการสอนที่ดี ควรยึดเด็กเป็นศูนย์กลาง (Child Center)
                2. เด็กมีความแตกต่างกัน
                3. เด็กมีความสามารถในการคิดและรับรู้ต่างกัน

เนื้อหา และเทคนิคการสอนเด็กในชั้นเรียนรวม
                ในปัจจุบันประเทศต่างๆ ทั่วโลกต่างให้การยอมรับการจัดการศึกษาแบบเรียนรวม ดังได้ร่วมทำสัญญาการดำเนินการจัดการศึกษาแบบเรียนรวมพร้อมกันในที่ประชุม (UNESCO) ณ ประเทศสเปน ปี ค.ศ. 1995 ดังนั้นจึงมีการปรับเปลี่ยนแนวทางการจัดการศึกษาและหาวิธีการเพื่อส่งเสริมให้การเรียนรวมมีความก้าวหน้ายิ่งขึ้น ซึ่งมีผู้กล่าวว่า ควรคำนึงถึงสิ่งสำคัญบางประการ ในการดำเนินการ คือ
                1. ต้องปรับเปลี่ยนหลักสูตรชั้นเรียนปกติเพื่อให้ตอบสนองความต้องการของเด็กที่มีความต้องการพิเศษ
                2. ต้องพัฒนาทัศนคติของทุกหน่วยงานการศึกษาที่มีต่อเด็กที่มีความต้องการพิเศษให้เป็นไปในเชิงบวก
                3. ต้องพัฒนานโยบายของโรงเรียนต่างๆ ให้เปิดกว้างเพื่อรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษเข้าเรียนรวมตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม
                4. ให้บุคลากรทุกฝ่ายในโรงเรียนปกติเห็นความสำคัญและรับผิดชอบร่วมกันในการจัดการศึกษาสำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษ

                นอกจากนี้นักการศึกษาพิเศษยังได้แนะนำวิธีการหลัก 5 วิธี ในการสอนเด็กพิเศษในห้องเรียนรวมให้ประสบผลสำเร็จด้วยดี ดังนี้
                1. สร้างห้องเรียนที่มีบรรยากาศของการสนับสนุนซึ่งกันและกัน (Building a Supportive Classroom)
                2. ใช้วิธีการเรียนโดยร่วมมือกันในการเรียนรู้ (Using Co-operative Learning)
                3. สอนเรื่องเดียวกันแก่เด็กที่มีความสามารถแตกต่างกัน (Working on the same topic with different abilities)
                4. ใช้ผู้ช่วงสอนมาช่วยสอนในห้องเรียน (Classroom tutors) โดยอาจเป็นเพื่อช่วยสอน (Peer tutoring) หรือผู้ปกครองและอาสาสมัครอื่นๆ ก็ได้
                5. สร้างทีมสนับสนุนโรงเรียน (Building a school support team)

                จะเห็นได้ว่า การจัดการศึกษาแบบเรียนรวม จำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนหลายประการดังกล่าวมาแล้ว เช่น หลักสูตร ทัศนคติของบุคคลรอบข้างที่เกี่ยวข้อง วิธีการสอน เป็นต้น และการวิเคราะห์งานการเรียนโดยการร่วมมือกัน (Co-opeative Learning) การสอนเรื่องเดียวกันแก่เด็กที่มีความสามารถต่างกัน การสอนแบบเพื่อนช่วยสอน (Peer tutoring) เป็นวิธีการสอนหนึ่งในหลายๆ วิธีการที่ได้รับการยอมรับว่ามีประสิทธิภาพสำหรับการจัดการศึกษาแบบเรียนรวม

                เทคนิคการวิเคราะห์งาน (Task Analysis)
                                การวิเคราะห์งาน เป็นวิธีการสอนที่เหมาะสมกับเด็กที่มีความต้องการพิเศษวิธีหนึ่ง ซึ่งครูวางแผนการสอนอย่างดีมีเป้าหมาย และแบ่งกิจกรรมหรืองานใดงานหนึ่งเป็นขั้นตอนย่อยๆ จากขั้นตอนแรกไปจนขั้นตอนสุดท้าย และสอนไปตามลำดับขั้นตอนที่ละขั้นจนเด็กทำได้สำเร็จ ดังนั้นการวิเคราะห์งานจึงจัดเป็นเทคนิคการสอนอย่างหนึ่งที่ครูจะต้องนำมาใช้เพื่อให้การสอนมีประสิทธิภาพมากขึ้น
                การวิเคราะห์งาน หมายถึง กระบวนการที่ใช้แยกงานออกเป็นขั้นตอนย่อยอย่างต่อเนื่องกัน โดยมีการจัดลำดับขั้นตอนย่อยของงาน และอธิบายขั้นตอนที่สำคัญของงานทั้งหมด

                งานในที่นี้คือ คือ พฤติกรรมใดพฤติกรรมหนึ่ง หรือกลุ่มพฤติกรรมที่แต่ละบุคคลต้องปฏิบัติ เพื่อแสดงให้เห็นว่ามีทักษะหรือความรู้นั้นๆ แบ่งได้เป็น 2 งาน ดังนี้
                1. งานเป้าหมาย (Target task) หรือพฤติกรรมเป้าหมาย (Terminal behavior)
                2. งานย่อย (Subtask) หรือพฤติกรรมย่อย (Intermediate behavior)

ประโยชน์ของการวิเคราะห์งาน
                1. ทำให้ครูตัดสินใจว่า จะสอนอะไรต่อจากเนื้อหาที่สอนไปแล้ว
                2. ทำให้ครูรู้ว่าเด็กมีปัญหาตรงไหน เด็กทำขั้นตอนใดไม่สำเร็จ
                3. ทำให้ครูแยกขั้นตอนย่อนที่จำเป็น เพื่อช่วยให้เด็กทำงานแต่ละชิ้นได้สำเร็จ
                4. ทำให้ครูรู้ว่าจะต้องเปลี่ยนและปรับปรุงอะไรบ้าง ที่จะช่วยให้เด็กทำงานที่ได้รับมอบหมายได้สำเร็จ
                5. ทำให้ครูหาวิธีอื่นใด เพื่อให้เด็กที่มีความต้องการพิเศษทำงานได้สำเร็จ เช่น ถ้าเด็กใส่กระดุมเสื้อไม่ได้จะมีวิธีใดที่จะสอนให้เด็กใส่กระดุมเสื้อได้

วิธีวิเคราะห์งาน
                1. ครูจะเป็นผู้แบ่งงานแต่ละงานเป็นขั้นตอนย่อยๆ ได้มากเท่าที่ครูคิดว่าจำเป็น
                2. ครูจะระบุทักษะย่อยที่เป็นขั้นตอนสำคัญไว้ว่าคืออะไร
                3. สอนให้เด็กทำงานที่กำหนดให้ได้สำเร็จ
                4. แก้ไขดัดแปลง เครื่องมือ อุปกรณ์ต่างๆ สำหรับเด็กบางคนที่ต้องเรียนรู้ทักษะย่อยแต่ละขั้นของงาน แต่บางคนฝึกงานบางชิ้นไม่ได้ กรณีนี้ต้องตั้งจุดประสงค์ใหม่แทนวัตถุประสงค์เดิมที่วางไว้ เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นนั้น

ผลการวิเคราะห์งาน
                1. เมื่อครูแยกขั้นตอนของงานชิ้นหนึ่งได้ โดยการแสดงผลของหารวิเคราะห์งานนั้นได้แสดงว่าครูสามารถใช้กระบวนการวิเคราะห์งานและวิเคราะห์งานชิ้นนั้นได้
                2. เมื่อครูทำการวิเคราะห์งานได้สำเร็จ ครูย่อมได้ข้อมูลพื้นฐานความก้าวหน้าของเด็กที่เรียนในโครงการ
                3. เมื่อครูวิเคราะห์งานใดได้แล้ว ครูย่อมตั้งเกณฑ์ในการเขียนวัตถุประสงค์ของหารเรียนการสอนในเนื้อหาอื่นต่อไปได้อย่างเหมาะสม
                4. เมื่อครูวิเคราะห์งานแล้ว ครูสามารถเปรียบเทียบเนื้อหานั้นว่าใช้เวลาสอนเท่าไหร จะต้องเน้นอะไร
                5. เมื่อครูวิเคราะห์งานใด ย่อมจะทราบว่าเนื้อหานั้นใช้เวลาสอนเท่าไหร จะต้องเน้นอะไร อย่างไร การเข้าร่วมแก้ปัญหาโดยใช้วิธีการวิเคราะห์งานอย่างไร ลักษณะของปฏิสัมพันธ์ใดที่ช่วยให้เรียนรู้งานได้ดีและเร็ว
                ลักษณะของการตัดสินใจของครู หลังการวิเคราะห์งานครูอาจตัดสินใจทำสิ่งต่อไปนี้ หนึ่งข้อหรือมากกว่า 
                1. ตัดสินใจว่าจะมอบให้เด็กทำงานอะไรหรือชิ้นไหนต่อไป
                2. แบ่งงานออกเป็นขั้นตอนย่อยๆ ตามความเหมาะสม
                3. หาเทคนิควิธีใหม่กว่าธรรมดา เพื่อช่วยให้เด็กทำงานชิ้นนั้นได้สำเร็จ

ขั้นตอนการวิเคราะห์งาน
                1. กำหนดเป้าหมาย และจุดประสงค์เชิงพฤติกรรม
                ตัวอย่างที่1 : เมื่อกำหนดเลขสองหลัก และเลขหลักเดียวที่มีค่าน้อยกว่า 10 ให้นักเรียนจะสามารถหาผล คูณของเลขสองจำนวนได้ภายใน 60 วินาที และมีความถูกต้อง 90 เปอร์เซ็น
                ตัวอย่างที่ 2 :  หลังจากที่ครูอ่านออกเสียงคำภาษาอังกฤษให้ฟัง 5 คำ 2 เที่ยว นักเรียนจะสามารถอ่าน ออกเสียงคำภาษาอังกฤษทั้ง 5 คำได้ถูกต้อง
                2. วิเคราะห์ ออกเป็นขั้นตอนย่อย หรือ งานย่อย
                3. จัดลำดับของานย่อย
                4. วิเคราะห์โดยกำหนด ทักษะบังคับเบื้องต้น
                5. จัดลำดับ ทักษะเบื้องต้น
                6. จัดทำแผนภูมิ (Flow Chart หรือ Sequence Chart)
                7. ทำแบบทดสอบ
                8. จัดประเภทพฤติกรรมเป้าหมาย
                9. สอนโดยอธิบายไปตามขั้นตอน แต่บางครั้งต้องสอนโดยบรูณาการขั้นตอนย่อยเข้าด้วยกัน

อ้างอิงจาก

วัฒนา ฤทธิเจริญพร . (2543). เอกสารการสอน รายวิชา การศึกษาแบบเรียนรวม.

       (พิมพ์ครั้งที่2), กรุงเทพมหานคร : ศูนย์การศึกษาพิเศษสถาบันราชภัฏสวนดุสิต.